วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550


ประติมากรรมสมัยสุโขทัย เริ่มตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ. 1800-1918 เมืองสำคัญทางศิลปสมัยสุโขทัยมีเมืองสุโขทัย เก่า กำแพงเพชร และศรีสัชนาลัยปรากฏโบราณสถานใหญ่โต มีศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก ชาวสุโขทัยนับถือพุทธศาสนายุคแรกตามแบบสมัยลพบุรี คือ พุทธศาสนาแบบมหายาน ภายหลังพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แพร่ขยายเข้ามาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง วัสดุที่นำมาสร้างประติมากรรมมี ปูนเพชร ดินเผา ไม้ โลหะสำริด และทองคำ แบบอย่างของประติมากรรมสมัยสุโขทัยแบ่งเป็น 4 ยุค คือ
ยุคที่ 1 ประติมากรรมยุคนี้ยังแสดงอิทธิพลของศิลปะลพบุรีที่เห็นได้ชัด คือ ภาพปูนปั้นลวดลายประดับประตูรั้วทางเข้าองค์ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้มีแบบเฉพาะเป็นของตนเองที่เรียกกันว่า "แบบวัดตระกวน" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมผสานกัน พระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นแบบลังกา พระวรกายและชายสังฆาฏิสั้นแบบเชียง
ยุคที่ 2 ในยุคนี้ฝีมือการสร้างประติมากรรมของช่างไทยเชี่ยวชาญขึ้น พัฒนารูปแบบการสร้างพระพุทธรูปจนก่อเกิดรูปพุทธลักษณะอันงดงามของสกุลช่างสุโขทัยเอง ยังเป็นศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ ในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูปไว้มากมายตั้งแต่พระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระอัฏฐารส พระอัจนะ จนถึงพระบูชาขนาดเล็ก และพระพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปนูนต่ำนูนสูงประดับภายในซุ้มมณฑปหรือพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก สมดังศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม " พระพุทธรูปสุโขทัยไม่นิยมสลักหิน แม้จะเป็นพระพุทธรูปขนาดสลักหิน นิยมปั้นด้วยปูนหรือหล่อด้วยโลหะมีค่าต่างๆ รวมทั้งทองคำบริสุทธิ์ ลักษณะพระพุทธรูปสุโขทัยยุคนี้ คือ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษเล็กน้อย พระเศียรสมส่วนกับพระศอและพระอังสา หมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอุระผายสง่า พระอังสาใหญ่กว้าง พระถันโปน ปั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวจรดมาถึงพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระกรเรียวดุจงาช้าง นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาททำแบบธรรามชาติ ดุจมีชีวิต ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง ปางที่นิยมคือ ปางมารวิชัย และปางลีลา องค์พระพุทธรูปปางลีลาที่งดงามปัจจุบันประดิษฐานที่ระเบียงคด วัดเบญจมบพิตร
ยุคที่ 3 การปั้นพระพุทธรูปยุคนี้พัฒนาไปจากศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ มีความประณีต มีระเบียบและกฎเกณฑ์มากขึ้น พระรัศมีเป็นเปลวมีขนาดใหญ่ขึ้น พระพักตร์รูปไข่สั้น พระอุณาโลมเป็นตัวอุหงายระหว่างหัวพระขนง พระวรกายมีความอ่อนไหวน้อยลง พระอาการสงบเสงี่ยมแลดูนิ่งสงบขึ้น พระกรยาว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่เสมอกัน ฝ่าพระบาทเรียบสั้น พระบาทยาว พระพุทธรูปที่สำคัญๆ ในยุคนี้ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระศรีศากยมุนี เป็นต้น
ยุคที่ 4 เป็นยุคที่ประติมากรรมสมัยสุโขทัยถูกกลืนไปกับอิทธิพลของศิลปสมัยอยุธยาเมื่อราชวงศ์พระร่วงสิ้นสุดลงในพ.ศ. 1981 นับเป็นยุคสุโขทัยเสื่อม แม้มีการสร้างศิลปะในชั้นหลังก็เป็นสกุลศิลปะเล็กๆ พระพุทธรูปมีลักษณะกระด้างขึ้นทั้งอิริยาบท และทรวดทรง มักสร้างพระพุทธรูปยืน พระสำคัญในยุคนี้เช่น พระอัฎฐารส วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแบ่งแบบอย่างพระพุทธรูปซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง มักทำดวงพระพักตร์กลมตามแบบพระพุทธรูปลังกา เช่น พระอัฏฐารสในวิหารวัดสระเกศ กลุ่มที่สอง เมื่อฝีมือช่างเชี่ยวชาญขึ้นคิดแบบใหม่ ทำดวงพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม เช่นพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเชิญไปไว้ที่พระปฐมเจดีย์ และพระสุรภีพุทธพิมพ์ที่เป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดปรินายก พระพุทธรูปที่สร้างแบบนี้มีมากกว่ากลุ่มแรก กลุ่มที่สามสันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาพญาลิไทย ซึ่งในตำนานกล่าวว่า ทรงเป็นพระราชธุระบำรุงกิจในพระศาสนายิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ โปรดให้เสาะหาช่างที่มีฝีมือดีทั้งในอาณาเขตลานนาและอาณาเขตข้างฝ่ายใต้มาประชุมปรึกษากัน และทรงสอบสวนหาหลักฐานพุทธลักษณะในคัมภีร์พระไตรปิฎกประกอบ จึงเกิดแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ดวงพระพักตร์เป็นทำนองผลมะตูมคล้ายแบบอินเดียเดิมแต่งามยิ่งนัก และแก้พุทธลักษณะแห่งอื่น เช่น ทำปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันทั้งสี่นิ้ว เป็นต้น แบบพระพุทธรูปเช่นนี้ทำกันแพร่หลายขึ้นไปจนถึงเมืองเหนือ และลงมาข้างใต้ แต่ที่ทำได้งามเหมือนองค์พระพุทธรูปที่เป็นต้นตำรามีน้อย
พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ทำในสมัยสุโขทัย ดูเหมือนจะไม่มีทำพระปางอย่างอินเดีย มีปางพุทธอิริยาบท คือ พระนั่ง พระนอน พระยืน พระเดินสองอย่าง พระนอนไม่ถือว่าเป็นปางนิพพานอย่างอินเดีย พระยืนมีแต่ปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ข้างเดียวบ้างสองข้างบ้าง สมมุติเรียกกันว่า ปางห้ามสมุทรและปางห้ามญาติ พระเดินไม่ถือว่าเป็นปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ไม่ทำปางพระกรีดนิ้วพระหัตถ์แสดงเทศนา พระพุทธรูปแบบสุโขทัยทำชายจีวรยาว พระรัศมีเป็นเปลว พระแบบที่สร้างสอลกลุ่มแรกนิ้วพระหัตถ์ไม่เท่ากันทั้งสี่นิ้ว แบบบัวรองพระพุทธรูปเป็นอย่างสุโขทัยไม่เหมือนกับบัวเชียงแสน จากหลักฐานที่พบในเมืองสวรรคโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร ชั้นเดิมสร้างเป็นพระก่อแล้วปั้นประกอบเป็นพื้น มาถึงชั้นกลางและชั้นหลังจึงชอบสร้างพระหล่อ ข้อนี้มีที่สังเกตตามวัดในเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย นอกจากนี้ที่เป็นวัดสำคัญ พระประธานที่เป็นพระปั้นยังอยู่โดยมาก แต่วัดสำคัญในเมืองพิษณุโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร มักไม่มีพระประธานเหลืออยู่ ด้วยเป็นพระหล่อเชิญมาไว้ที่กรุงเทพ ฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์โดยมาก เช่น พระศรีศากยมุนีที่พระวิหารวัดสุทัศน์ พระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศ และพระอัฏฐารส ที่วิหารวัดสระเกศ เป็นต้น พระพิมพ์ก็ชอบสร้างในสมัยสุโขทัยเหมือนสมัยอื่น แต่แปลงมาเป็นพระพุทธรูปตามคติหินยาน ทำต่างพุทธอิริยาบท มักชอบทำพระลีลา เรียกกันสามัญว่า "พระเขย่ง" อีกอย่างหนึ่งก็ทำเป็นพระนั่ง แต่หลาย ๆ สิบองค์ในแผ่นพิมพ์อันหนึ่ง
ในพ.ศ. 2494 หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์และนาย A.B. Griswold ได้แบ่งหมวดหมู่พระพุทธรูปสุโขทัยออกเป็น 5 หมวด คือ
1. หมวดใหญ่ตรงกับหมวดชั้นกลางที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ จัดเป็นแบบที่งามที่สุด
2. หมวดกำแพงเพชร ลักษณะเหมือนหมวดใหญ่ พระพักตร์สอบจากตอนบนลงมาหาตอนล่างมาก พบสร้างมากที่กำแพงเพชร
3. หมวดพระพุทธชินราช ตรงกับหมวดที่สามที่ทรงกล่าว
4. หมวดพิษณุโลกชั้นหลัง ลักษณะทรวดทรงยาว แบบจืดและแข็งกระด้าง จีวรแข็ง มักทำพระยืน เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยชั้นหลัง เมื่อตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาแล้ว
5. หมวดเบ็ดเตล็ด หมายถึงพระพุทธรูปแบบสุโขทัยซึ่งเข้ากับ 4 หมวดข้างต้นไม่ได้ รวมทั้งแบบวัดตระกวนซึ่งมีลักษณะเป็นพระเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมกัน แบบวัดตระกวนนี้อาจจัดเข้าอยู่ในหมวดชั้นแรกซึ่งมีวงพระพักตร์กลม ต่อมานายกริสโวลด์ ได้แบ่งพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยออกเป็นเพียง 3 หมวดคือ
1. Pre-classic ซึ่งตรงกับหมวดที่ 1 ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
2. High-classic ซึ่งตรงกับหมวดที่สองของสมเด็จ ฯ
3. Post-classic ซึ่งตรงกับหมวดที่สามของสมเด็จ ฯ ในหมวดที่สามนี้นายกริสโวลด์ได้พบพระพุทธรูป 5 องค์ ซึ่งมีจารึกบอกศักราชที่หล่อขึ้น องค์หนึ่งอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี หล่อขึ้นในพ.ศ. 1963หรือ 1966 อีก 4 องค์อยู่ที่จังหวัดน่านหล่อขึ้นเมื่อพ.ศ. 1970
นอกจากการสร้างพระพุทธรูปแล้วสมัยสุโขทัยยังนิยมทำภาพปูนปั้นเพื่อประกอบงานสถาปัตยกรรมและงานอื่นๆ จำนวนมาก โดยทำขึ้นหลายรูปแบบทั้งสวยงาม แปลกประหลาดและตลกขบขัน ตัวอย่างลวดลายปูนปั้นที่งดงามมีอยู่มากมาย เช่น ลายปูนปั้นที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองสุโขทัย เป็นเรื่องพุทธประวัติแสดงปางประสูติ ปรินิพพาน ลายปูนปั้นที่วัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นลายดอกไม้ ลายปูนปั้นที่วัดช้างล้อม อำเภอศรีสัชนาลัย ปั้นเป็นรูปช้างรายรอบฐานพระเจดีย์ ลายปูนปั้นที่วัดตระพังทองหลาง เป็นเรื่องพุทธประวัติแสดงปางเสด็จจากดาวดึงส์ http://www.info.ru.ac.th/province/sukhotai/art2.htm

ไม่มีความคิดเห็น: